วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การเลือกใช้วัสดุพิมพ์

เลือกวัสดุพิมพ์อย่างไร ให้เหมาะสมกับงานที่จะพิมพ์ …

           การ เลือกใช้วัสดุพิมพ์สำหรับงานพิมพ์ด้วยระบบ Ink Jet ในที่นี้จะขอกล่าวถึงระบบงานพิมพ์ Ink Jet ที่เกี่ยวกับการทำป้ายโฆษณา Outdoor เพียงเท่านั้น สำหรับวัสดุที่ใช้พิมพ์ของระบบงานพิมพ์ Ink Jet อื่นขอให้ติดตามในโอกาสต่อไป
           วัสดุสำหรับงานพิมพ์ Ink Jet หมึกพิมพ์เชื้อ Solvent ที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปก็จะกันอยู่ประมาณ 2 ประเภทคือ Flexible Surface หรือที่เรียกกันว่า ไวนิล และ Self Adhesive Vinyl หรือที่เรียกกันว่า สติกเกอร์ และที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปคือสติกเอร์ พีวีซี วัสดุพิมพ์ทั้งสองชนิดก็มีหลากหลายชนิด หลากหลายคุณสมบัติ แต่ละอย่างการนำไปใช้งานก็จะแตกต่างกันไป ในที่นี้จะขอขยายความของวัสดุพิมพ์เพื่อให้เกิดความรู้ซึ่งกันดังต่อไปนี้
           ไวนิล หรือ Flexible Face กระบวน การผลิตเกิดจากการนำเส้นใยโพลีเอสมาทอเป็นผ้า ในความหนา หรือความใหญ่ของเส้นใย การเลือกใช้ความหนาหรือเส้นใยที่แตกต่างกันนั้น บงบอกถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมในการนำไปใช้งาน จะขอกล่าวเรื่องคุณสมบัติภายหลังอีกครั้ง เมื่อได้เส้นใยที่ทอเป็นผืนแล้ว กระบวนการต่อไปคือการนำผ้าโพลีเอสไปเคลือบพีวีซีทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ในส่วนของด้านจะเคลือบโดยใช้ปริมาณพีวีซีที่มากกว่า เพื่อต้องการให้ผิวหน้าเรียบสม่ำเสมอ เมื่อพิมพ์สีลงไปจะทำให้ภาพที่ออกมาสวยงาม การเคลือบพีวีซีจะมีอยู่สองประเภท คือประเภทที่หนึ่ง ใช้กาวชนิดพิเศษเป็นตัวประสานระหว่างเส้นใยโพลีเอสเตอร์ กับพีวีซีที่เคลือบ วัสดุที่ทำในลักษณะนี้นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากราคาจำหน่ายไม่แพงเกินไป และอีกประเภทหนึ่งคือการนำเส้นใยโพลีเอสเตอร์ไปชุบกับพีวีซีเหลว และผ่านขั้นตอนการทำเป็นแผ่น วัสดุที่ผลิตจากกระบวนการนี้จะมีคุณสมบัติที่ดีเยี่ยม ใช้กับป้ายที่ต้องการความทนทานเป็นพิเศษ หรือป้ายที่ต้องการอายุการใช้งานที่ยาวนาน และมีผิวหน้าสม่ำเสอเป็นพิเศษ ข้อเสียของระบบนี้คือ ราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากวัสดุที่กระบวนการผลิตในประเภทนี้ค่อนข้างซับซ้อน และใช้เครื่องจักรที่มีราคาแพงในการผลิต อีกทั้งปริมาณการผลิตก็ยังได้น้อยกว่าในประเภทแรกอีกด้วย
การเลือก ใช้ไวนิล โดยทั่วไปนิยมใช้ความหนาของไวนิลเป็นตัวกำหนดความแข็งแรงของไวนิล แต่ในความเป็นจริงแล้วความหนาเป็นตัวชี้วัดความแข็งแรงส่วนหนึ่งเท่านั้น การที่จะดูว่าไวนิลมีความแข็งแรงมากน้อยเพียงใด ให้ไปดูที่รายละเอียดของสินค้า ที่ผู้ผลิตทุกรายจะต้องบ่งบอกสรรพคุณเอาไว้อย่างชัดเจน โดยศึกษาในหัวข้อดังต่อไปนี้
           1. YARN บางแห่งก็จะมีคำต่อท้าย เช่น YARN COUNT หรือผู้ผลิตบางรายอาจจะมีคำอื่น แต่ขอให้สังเกตคำว่า YARN และตัวเลขที่ระบุตามมา ในหัวข้อนี้หมายถึงเส้นใยโพลีเอสเตอร์ย่อยๆ จำนวนกี่เส้นที่มัดรวมกันเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์หนึ่งเส้น ยกตัวอย่าง ผู้ผลิตระบุว่า 500D x 500D นั้นหมายถึงทั้งเส้นใยแนวราบ และเส้นใยแนวตั้ง ในหนึ่งเส้นใยประกอบด้วยเส้นใยเส็กๆ มัดรวมกันจำนวน 500 เส้น และถ้าผู้ผลิตระบุว่า 300D x 200D นั่นหมายถึงเส้นในด้าน 300 หนึ่งเส้นประกอบด้วยเส้นใยเล็กๆจำนวน 300 เส้นมัดรวมกัน ส่วนอีกด้านหนึ่งคือเส้นใยเล็กๆ 200 เส้นมัดรวมกันเป็นเส้นใยใหญ่ ในข้อนี้ให้สังเกตว่าหากจำนวนเส้นใยมีจำนวนมาก นั่นหมายถึง ความแข็งแรงของไวนิลนั้นมีความแข็งแรงและทนทานมากกว่าชนิดที่มีจำนวนเส้นใย น้อยกว่า จำนวนเส้นใยที่กล่าวมาข้างต้นนี้ยังไม่อาจสรุปได้ว่าไวนิลที่มีเส้นใยมากจะ แข็งแรง ทนทาน แต่หากนำปัจจัยในหัวข้อต่อไปนี้มาพิจารณาร่วม ย่อมสามารถสรุปได้ว่าไวนิลนั้นๆมีความแข็งแรง ทนทานมากแค่ไหน
           2. THREAD เช่นเดียวกันกับหัวข้อข้างต้น ผู้ผลิตแต่ละรายจะกำหนดชื่อที่แตกต่างกันไป สำหรับข้อนี้ก็ให้สังเกตตัวเลขที่ระบุตามหลังเช่นกัน ดังจะยกตัวอย่างต่อไป ในหัวข้อนี้ หมายถึงจำนวนเส้นใยทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ในพื้นที่หนึ่งตรารางนิ้ว เช่นระบุว่า 18 x 12 นั่นหมายความว่า ในด้านหนึ่งจำนวนหนึ่งนิ้ว จะมีเส้นใยโพลีเอสเตอร์ใหญ่จำนวน 18 เส้น และอีกด้านหนึ่งจะมีจำนวน 12 เส้น เช่นเดียวกันหากจำนวนเส้นใยยิ่งมากย่อมมีความแข็งแรงมากกว่าเส้นใยที่น้อย กว่า
           3. THICKNESS หรือความหนา ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะระบุเป็นหน่วยมิลลิเมตร ความหนาก็เป็นส่วนหนึ่งของความแข็งแรง
           4. WEIGHT หรือน้ำหนัก ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะระบุเป็นกรัมต่อตารางเมตร หรือมีคำย่อว่า gsm.
           ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงข้อสังเกตพื้นฐานที่ควรจะนำมาพิจารณาเลือกซื้อไวนิลมาใช้งาน หากแต่ยังมีสรรพคุณอีกมากที่ต้องศึกษา ส่วนใหญ่แล้วผู้ผลิตไวนิลที่มีราคาสูงจะกำหนดไว้แทบจะทุกเรื่อง แต่สำหรับไวนิลที่ใช้งานพิมพ์ INK JET โฆษณา OUTDOOR แล้ว การรับทราบเพียงข้างต้นก็สามารถทำให้การเลือกใช้ไวนิลมีประสิทธิภาพ และเหมาะกับงาน อาจจะสามารถช่วยลดต้นทุนลงได้
           ปัจจัย อีกตัวหนึ่งที่เป็นปัจจัยภายนอก ที่สามารถสังเกตเห็นได้ทันทีเมื่อผู้ขายนำไวนิลมาส่ง นั่นก็คือความสม่ำเสมอของสีผิวหน้าของไวนิล บางคนอาจจะบอกว่ามันไม่จำเป็นเลย แต่สำหรับผู้พิมพ์งาน INKJET แล้วปัจจัยนี้จะช่วยทำให้งานของผู้พิมพ์มีคุณภาพสูง และยังช่วยประหยัดทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายในการทำงานได้อีก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำตอบง่ายๆ การพิมพ์ INKJET สิ่งสำคัญที่สุดคือสีของงานพิมพ์จะต้องเหมือนกันทุกครั้งที่พิมพ์ หากไม่สามารถควบคุมสีผิวหน้าของไวนิลได้แล้ว การที่จะทำให้สีที่พิมพ์ออกมาเหมือนกันทุกครั้งย่อมเป็นไปไม่ได้ หรือถ้าเป็นไปได้ก็ต้องเสียเวลาในการเพิ่ม หรือลดค่าสี การทดลองพิมพ์ตัวอย่าง และต้องสูญเสียวัสดุพิมพ์ และหมึกพิมพ์ ในการปรุ๊ฟตัวอย่างใหม่
           ชนิดของไวนิลนอกจากที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ ไวนิลชนิดทึบแสง สำหรับงานป้ายโฆษณาที่ใช้ส่องด้านหน้า ไวนิลชนิดโปร่งแสง สำหรับงานตู้ไฟ ยังมีไวนิลที่มีคุณสมบัติมากกว่าดังนี้
           1. ไวนิลตาข่าย หรือที่เรียกว่า NET ไวนิล หรือ MESH ไวนิลประเภทนี้นิยมใช้กันโดยทั่วไปคือ การคลุมตึกที่กำลังก่อสร้าง หรือคลุมลานจอดรถ ไวนิลชนิดนี้จะมีคุณลักษณะเด่นคือยอมให้ลมผ่านได้ และสามารถมองทะลุไปยังอีกด้านหนึ่งได้ ไวนิลชนิดนี้ยังนิยมใช้กันสำหรับทำป้ายขนาดใหญ่ในห้างสรรพสินค้า เพราะไม่บดบังทัศนวิสัยในการมอง อีกทั้งยังนิยมใช้ในการทำป้ายในสถานที่มีลมพัดผ่านแรง เนื่องจากไวนิลชนิดนี้ลมสามารถผ่านได้ จึงไม่ทำให้ต้องแบกรับของแรงลมที่จะมาปะทะกับป้าย
           2. ไวนิลพิมพ์สองด้าน ไวนิลชนิดนี้จะมีผิวหน้าทั้งสองด้านของสินค้าที่เรียบสม่ำเสมอ อีกทั้งยังมีความหนาเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้ลายภาพอีกด้านหนึ่งทะลุมาแสดงอีกด้านหนึ่ง หากพิมพ์สองหน้า หรือบางครั้งผู้ผลิตจะใช้วัสดุสีดำให้อยู่ระหว่างไวนิลทั้งสองด้าน ซึ่งการทำเช่นนี้ จะทำให้ภาพที่พิมพ์ทั้งสองด้านมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ และตัดปัญหาเรื่องลายภาพทะลุถึงกันได้เลย ไวนิลชนิดนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ผู้พิมพ์ในบ้านเราจะใช้ไวนิลทึบแสงพิมพ์สองแผ่นและมาเย็บติดกัน ซึ่งก็จะพบปัญหาคือ หากนำชิ้นงานดังกล่าวไปแสดงที่ที่มีแสงแดดส่องผ่าน ก็จะเห็นลายภาพของด้านหนึ่งแสดงเป็นเงาสีดำอีกด้านหนึ่ง
           3. ไวนิลผิวหน้าสีขาวแต่ด้านหลังเป็นสีดำ ไวนิลชนิดนี้ออกแบบมาสำหรับงานโฆษณากลางแจ้งหน้าเดียว แต่ป้ายติดตั้งในสถานที่มีแสงผ่านมาก เพราะสีดำอีกด้านหนึ่งของไวนิลจะคอยป้องกันไม่ให้แสงผ่าน จึงทำให้ภาพที่พิมพ์มีความสวยงามตลอดเวลา
           4. นอกจากนี้ผู้ผลิตบางรายยัง ผลิตชนิดที่ไม่มีเส้นใยอยู่ด้านในของไวนิล ข้อดีคือเมื่อนำไวนิลชนิดนี้ไปทำเป็นตู้ไฟจะไม่เห็นเส้นใย ทำให้ป้ายมีความสวยงาม แต่ความทนทานยังเหมือนเดิม ในอดีตหากทำตู้ไฟจะใช้ระบบการพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์ WATER BASED เพราะวัสดุพิมพ์ของหมึกพิมพ์ชนิดนี้จะไม่มีเส้นใยให้เห็น แต่ในปัจจุบันเครื่องพิมพ์ SOLVENT BASED มีการพัฒนาความละเอียดมากขึ้น จึงมีผู้ผลิตบางรายผลิตสินค้าประเภทนี้ขึ้นมาโดยใช้หมึกพิมพ์ SOLVENT BASED พิมพ์ได้ ช่วยประหยัดในด้านต้นทุนการผลิต และเวลาในการผลิต
           การผลิตไวนิลข้างต้นนั้น ผู้ผลิตหลายรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตที่ส่งสินค้าไปขายยังยุโรป จำเป็นที่ต้องเพิ่มขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญอย่างมากคือ การเคลือบไวนิลไม่ให้เป็นเชื้อที่ติดไฟ หรือเรียกภาษาอังกฤษว่า FLAME RETARDANT เพราะกฎหมายของประเทศนั้นๆ เข้มงวดมาก และในเมืองไทยเริ่มที่จะกล่าวถึงกันมากขึ้น เพราะจะนำไปใช้โฆษณาสินค้าในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน
           นอกจากที่กล่าวมา ข้างต้นนี้แล้วในตลาดของผู้ผลิตไวนิลยังต้องมีผู้ผลิต ผลิตสินค้าใหม่ๆ เพื่อพัฒนาวงการโฆษณาอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตอาจจะมีวัสดุแปลกๆมาให้เหลือกใช้กันมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น